SunnyCotton Pride Month Series #1 รวง

//SunnyCotton Pride Month Series #1 รวง

SunnyCotton Pride Month Series #1 รวง

“สมัยเรียนมัธยมต้น ตอนเรียนวิชางานช่าง เราพลาดตัดสายไฟมอเตอร์ดำแดงในการทดลองใช้เครื่องมืองานช่างขาด แล้วทำเสียง ‘จิ๊’ ในลำคอ เพราะหงุดหงิดตัวเอง ครูก็พูดขึ้นมาว่า ‘ดูไว้นะทุกคน ทำแบบนี้พ่อแม่ไม่สั่งสอน’ ตอนนั้นพ่อเราเพิ่งเสีย เลยโกรธมาก ตบโต๊ะแล้วพูดว่า ‘พ่อแม่สอนค่ะ แต่หนูทำเอง’ หลังจากคาบนั้นเราก็ถูกอาจารย์ด่าตลอด ถูกขีดชื่อออกจากรายชื่อนักเรียน ในขณะที่เพื่อนร่วมห้องก็ไม่ค่อยอยากยุ่ง เพราะเราดูเป็นตัวปัญหา ด้วยความที่เราไม่ยอม เราเลยไม่ไปโรงเรียน 3 เดือน เพราะเราไม่เอาครูที่ทำกับเราแบบนี้ แต่ก็ทำงานส่งตลอด คือเข้าห้องสมุด หอสมุด พิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ด้วยตัวเองแทน พอผ่านไป พี่ชายแอบไปสังเกตเราที่โรงเรียน และพบว่าครูทำไม่ดีกับเรามาก ๆ พี่เลยบอกแม่ แล้วก็ย้ายโรงเรียนให้เราทันที พอโตมาเราเลยเป็นคนใช้อินเทอร์เน็ตเป็น หาความรู้ที่เราสนใจเองได้ และลึกๆ ไม่เชื่อในระบบการศึกษาทางหลัก

.

พอโตขึ้นเราเริ่มค้นหาเพศตัวเอง เราไม่ได้ชอบผู้ชาย แต่ตอนนั้นก็ไม่กล้าเรียกตัวเองว่าเลสเบี้ยน ไม่ชอบให้ใครเรียกว่าทอม และไม่คุ้นกับคำว่าหญิงรักหญิง เราไม่ fit in (รู้สึกเข้าพวก) กับคำนิยามใดๆ เพราะรู้สึกว่าไม่เป็นตัวเองสักอย่าง เราชอบตัดผมสั้นกุด ถ้าคนทั่วไปมอง ก็จะบอกว่าเราเป็นทอม แต่เราก็ชอบอะไรที่เป็นผู้หญิงสุดๆ อย่างทาเล็บสีสดๆ ใส่เสื้อผ้าลายดอกๆ คือข้างในเราไม่ได้อยากเป็นผู้ชาย เราแค่ชอบทำกิจกรรมของผู้ชาย เช่น เราชอบดนตรีร็อค ชอบเข้าป่า ชอบผจญภัย สะสมอุปกรณ์ช่าง เราก็สงสัยว่าตัวเองเป็นอะไร

.

พอโตขึ้นเราก็เริ่มหาฝูง เลยลองเข้าหาชุมชนหญิงรักหญิงผ่านอินเทอร์เน็ต ไปบาร์เลสเบี้ยน ปาร์ตี้เลสเบี้ยน  กิจกรรมนัดเจอทอมดี้  บางช่วงเราไปแทบทุกวัน แต่พอคุยกันกับคนในชุมชนเราก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่บทสนทนาที่เราอยากคุย เขาไม่เหมือนเราเลย  หลายปีช่วงนั้นเราแทบไม่เจอเพื่อนเลย แต่เรากลับได้เจอเพื่อนเกย์ที่ไม่เหมือนเกย์คนอื่นๆ คือเขาดูเหมือนผู้ชายเรียบๆ แต่เวลาที่เราคุยกันเรื่องดนตรี ดูเขาแสดงความรู้สึกและตัวตนออกมา ตรงนั้นแหละที่เราค้นพบว่าพวกเขาเหมือนเรา เป็นคนชายขอบของกลุ่ม LGBT อีกที

.

ด้วยความที่เราไม่รู้สึกว่าสื่อในไทยตอบสนองความเป็นตัวเรา เราเลยดูสื่อต่างประเทศเยอะ ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ต่อมาก็เลยพบว่ามันมีคำหนึ่งที่โอเคกับตัวเอง คือคำว่า Queer ซึ่งเดิมมันเป็นคำด่าประมาณว่า ไอ้พวกวิปริตวิตถาร ไอ้คนแปลก แต่คนกลุ่มนี้เอาคำนี้มาเรียกตัวเองเพื่อแสดงความภาคภูมิใจว่า ฉันก็เป็นฉันนี่แหละ ไม่เอาแม้กระทั่งนิยามการเป็นหญิงรักหญิง ชายรักชาย เพราะฉันจะเป็นอะไรก็ได้ แล้วลึกที่สุดคือ Queer ครอบคลุมถึงการรื้อถอนความหมายต่างๆ ในระบบโครงสร้าง การเมือง วัฒนธรรม โดยก็มีส่วนหนึ่งใช้การต่อสู้ทางภาษา ซึ่งมันคือนิยามต่างๆ ที่เราเคยรู้สึกไม่ fit in ฉะนั้น Queer จึงไม่ใช่การบอกว่าฉันมีเพศอะไร แต่เป็นการบอกอัตลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และโครงสร้างสังคม  เราชอบความหมายนี้มาก เพราะมันท้าทายให้เรารื้อและถอนตัวเองในรูปแบบที่เคยเป็นออกมา

.

เราเรียนจบด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อสำหรับเด็ก ได้ทำงานในมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ช่วยเหลือเด็ก พอเข้าสู่วัยทำงาน เราเริ่มสนใจเรื่องสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะเราถูกล่วงละเมิดทางเพศในช่วงเวลานั้น เลยได้เข้าร่วมกิจกรรมในประเด็นเหล่านี้ และได้รู้จักพี่ๆ นักกิจกรรมเฟมินิสต์ที่ทำงานในประเด็นความเป็นธรรมทางเพศ 

.

เมื่อ 4 ปีก่อนหลังจากที่เราไปเรียนเรื่องการเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสังคม (Social Change Maker) จึงก่อตั้งองค์กรชื่อ “หิ่งห้อยน้อย” เพราะอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสื่อที่เป็นมิตรให้เด็กๆ ได้พูดในสิ่งที่สังคมไม่อยากให้พูด (Taboo) ซึ่งจริงๆ เป็นหัวข้อที่กว้างมาก เป็นไปได้ตั้งแต่การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน เรื่องเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ประจำเดือน ศาสนา ไปจนถึงเรื่องการเมืองที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กเข้ามายุ่ง แต่ส่วนใหญ่เวลาเราอธิบายว่าทำงานอะไร คนไทยจะงง เพราะพวกเราไม่ค่อยสำรวจว่าในชีวิตเรา มันมีเรื่องไหนบ้างที่ไม่สามารถพูดจนกลายเป็นปกติ

.

หิ่งห้อยน้อยทำหลายประเด็น แต่คนมักเข้าใจว่าเราทำงานเรื่องประจำเดือนเป็นหลัก ซึ่งเราพบว่าประเด็นประจำเดือนเป็นประเด็นที่ทำแล้วสังคมไม่ต่อต้านมาก เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกาย เป็นเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องส่วนตัวที่หลายคนมีประสบการณ์ร่วม ซึ่งพอเราไปสำรวจดูก็พบว่ามันเป็นคำถามท็อปฮิตของเด็กๆ และแม้แต่ตัวผู้ใหญ่เอง มันเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยพูด แต่สงสัยกัน เช่น เด็กเพิ่งมีประจำเดือน เขาทำตัวไม่ถูก บางคนประจำเดือนขาดก็กังวลว่าจะท้อง บางคนก็มีปัญหาสุขภาพ ไม่รู้จะถามใคร สิ่งที่เราทำคือรับฟัง เป็นพื้นที่ปลอดภัย และบอกให้เขาไปหาหมอ หรือองค์กรเครือข่ายที่น่าจะช่วยเขาได้ ทำให้เขาเข้าถึงกระบวนการแก้ปัญหาซึ่งเขาเป็นคนเลือกเอง

.

เราพบว่าการที่ครูขีดชื่อเราออกจากชั้นเรียนในวันนั้น จนมาถึงการที่เราเป็น Queer ทำให้เรารู้สึกอินมากกับประเด็นที่อยู่ชายขอบ การที่สังคมผลักให้เราเป็นคนอื่นมันเกิดขึ้นเสมอ เพียงแต่ว่าเราจะมองเห็นมันไหม ซึ่งเราเชื่อว่าการผลักประเด็นโดยคนชนชั้นกลางอย่างเดียวมันยังไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยและรับฟังเสียงของคนเล็กคนน้อยที่ถูกกดทับอยู่ด้วย เพื่อที่เราจะได้มองปัญหาอย่างมีมิติและนับรวมทุกคน ให้พื้นที่เขาออกมาพูดปัญหาของตัวเองให้มากขึ้นๆ

.

ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้สังคมเราพูดกันเรื่องผ้าอนามัยฟรีจนมันเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราฟังเสียงความต้องการของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ทรานส์ (คนข้ามเพศ) นอน-ไบนารี่ (คนที่ไม่เห็นว่าเพศของตัวเองจำกัดอยู่เฉพาะชายหรือหญิง) หรือผู้หญิงที่ต้องผ่าตัดมดลูก ผู้หญิงที่แพ้พลาสติก ผู้หญิงที่ทำแท้ง ผู้หญิงในวัฒนธรรมอื่นๆ กลุ่มแรงงานผู้หญิง ฯลฯ เราจะได้ยินความหลากหลายมากขึ้น พอเราอยากให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าผ้าอนามัยฟรี เราก็จะคิดว่าฟรีได้ถึงใครบ้าง แล้วแต่ละคนมีสิทธิเลือกผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ ไหม

.

เราคิดว่าส่วนที่เป็นท้องของร่างกายและประจำเดือนมันเชื่อมโยงกับตัวตนของมนุษย์มากๆ การที่แต่ละคนจะเลือกใช้อะไรเพื่อรองรับเลือดประจำเดือนก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ ความสะดวกใจ ความสบายตัว และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแต่ละคนควรจะมีทางเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ฉะนั้นในมุมมองเรามันไม่ใช่แค่เรื่องรัฐสวัสดิการ แต่มันมีเรื่องความเชื่อและตัวตนของคนๆ นั้นด้วย อย่างความเชื่อชนเผ่าก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรดูถูกกัน ซึ่งถ้าเรามองด้วยแว่นตาวิทยาศาสตร์ที่โลกของชายเป็นใหญ่สร้างขึ้น เราก็อาจจะปัดตกมันไปและดูถูกว่ามันไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง เช่น ยาสมุนไพรบางตัวที่เขาใช้แล้วมันดีกับเขา การนวดน้ำมันมะพร้าวที่ทำให้ช่วงท้องน้อยและมดลูกรู้สึกดีและอบอุ่นตอนมีประจำเดือน ความเชื่อและความรู้ของหมอตำแย ซึ่งมันสุดยอดมากเลย

.

เราเคยไปอบไอน้ำสมุนไพรที่จิ๋มกับหมอพื้นบ้านคนหนึ่ง เลยทำให้รู้เลยว่าที่ผ่านมาจิ๋มเราเครียดมาก เราเจออะไรต่อมิอะไรเยอะมาก ทั้งเรื่องที่เราถูกล่วงละเมิด ทั้งความเครียดในชีวิต ที่ทำให้มดลูกเราก็บีบตัว มันเป็นการกดทับที่เราก็ไม่คิดว่าตัวเองจะรู้สึกได้ถึงขนาดนี้ ฉะนั้นการที่ผู้หญิงบางคนไม่มีเงิน ต้องทนใช้ผ้าอนามัยพลาสติก หรือใช้มันซ้ำๆ ไม่ได้เปลี่ยน เขาแพ้ เขามีแผล จิ๋มเขาต้องเครียดอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับใบหน้า เรามีรอยเหี่ยวนิดเดียว เราไปคลินิก ทาครีมทุกวัน ดูแลอย่างดี แล้วจิ๋มของเราละ เราไม่เคยมีทรีตเม้นอะไรดีๆ เลย กิจกรรมของจิ๋มมีแค่มีเมนส์ มีเซ็กซ์ มีลูก ทำแท้ง และถูกผ่าตัด แต่ไม่มีกิจกรรมอื่นที่เราจะดูแลหรือผ่อนคลายเขาเลย สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสุขภาพที่ดีและถือเป็นสวัสดิการหรือเปล่า เราจะมีสวัสดิการให้จิ๋มได้ไหม? ฉะนั้นพอเราทำเรื่องประจำเดือน เราไม่ได้มองมันเป็นแค่เลือดที่ไหลออกมา แต่เป็นเรื่องที่ชวนเรารื้อมุมมองใหม่ในการสำรวจพื้นที่ด้านต่างๆ ในชีวิต เช่น เรื่องสิทธิ ร่างกาย ความสุข วัฒนธรรม สังคม ศิลปะ จิตวิญญาณ ฯลฯ มันเกี่ยวพันกับทุกอย่างเลย

.

เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน พวกเราจัดวงคุยเรื่องเมนส์ แล้วพบว่ามดลูกเกี่ยวพันกับหลายเรื่องในชีวิตมาก อย่างสีของเมนส์ก็มีหลายเฉด ของเราจะออกแดงไวน์ หรือ แดงม่วง ซึ่งในวงคุย เราทุกคนจะได้ระบายสีเมนส์ของตัวเอง สีของเราไม่เหมือนเพื่อนคนอื่นเลย มันทำให้พบว่าเพื่อนที่มีสีเมนส์คล้ายเรา เขามีปัญหาถุงน้ำในมดลูก พอเราไปตรวจก็พบว่าเรามีถุงน้ำเหมือนกัน หรือเดือนไหนถ้าเราเครียดมากๆ ประจำเดือนเราจะมาเป็นก้อน ออกมาเป็นลิ่มเลือด ซึ่งเราพอเราสังเกตตัวเองมากขึ้น ดูแลเขามากขึ้น เขาก็ให้ความร่วมมือ และมีลิ่มเลือดน้อยลง เรารู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อน เรามีตัวเรา มีเมนส์ มีมดลูก ที่เผชิญสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ไปพร้อมๆ กัน

.

เราลองใช้ผ้าอนามัยมาหลายแบบ แบบพลาสติกก็ใช้ แบบผ้าก็ใช้ แบบถ้วยก็ใช้ ล่าสุดเห็นว่ามีแบบที่ถักเป็นโครเชต์ เราก็อยากลองใช้ เหมือนเราหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งตอนนี้เราสบายใจกับการใช้ผ้าอนามัยซักได้ เพราะรู้สึกถึงการยอมรับตัวเองทุกครั้งที่ใช้ เราจะได้หยิบมาดูและเจอกับเลือด ซึ่งไม่รู้สึกว่าน่ารังเกียจ เพราะมันไม่มีกลิ่น เวลาที่ซักก็เป็นเวลาที่เราอยู่กับตัวเอง เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราเปิดจดหมายที่ส่งมาจากมดลูกออกดู มาอ่านว่าจดหมายของเดือนนั้นบอกอะไรกับเรา บางเดือนก็บอกว่าเครียดนะ ต้องพักหน่อย แล้วถ้าเดือนไหนเราดูแลตัวเองดี กินของดีๆ ประจำเดือนของเราก็จะสวย เดือนไหนสวย เราก็จะตื่นเต้นมาก ยิ้มกว้าง รู้สึกภูมิใจว่าเดือนนี้เลือดเราสวยจัง อยากทำลิปสีนี้จังเลย อยากชวนคนมาทำ Fundraising ทำลิปสีเมนส์ ฉะนั้นเราเลยรู้สึกภูมิใจในประจำเดือนของตัวเอง เรารักมันได้ มันน่ารัก เหมือนที่เราภูมิใจในอัตลักษณ์ของเรา”

.

รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ 

อายุ 37 ปี เป็น Queer เป็น Activist และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มหิ่งห้อยน้อย

🌈🌞 ในเดือนแห่ง Pride Month นี้ SunnyCotton ขอร่วมเฉลิมฉลองของขวัญจากธรรมชาติที่ทุกคนได้รับ การก้าวออกมาพูดถึงความสวยงามที่แต่ละคนมีอย่างแตกต่างหลากหลาย ความสบายใจและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างแท้จริง ด้วยเรื่องเล่าทั้งจากผู้มีประจำเดือนและไม่มีประจำเดือน เพราะ “ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่มีประจำเดือน และไม่ใช่ผู้มีประจำเดือนทุกคนเป็นผู้หญิง”

#เราทุกคนมีสีสันที่ต่างกัน #รื้อถอนเพื่อโอบรับความหลากหลาย#PrideMonth#celebratingpridemonthforpeoplewithorwithoutperiods

ติดตามเรื่องราวของ ชาม และ จิม ได้ที่แฮชแท็ค #sunnycottonPrideMonthSeries

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดยพรรัตน์ วชิราชัย

ข้อความทั้งหมดในบทสัมภาษณ์นี้เป็นลิขสิทธิ์ของแบรนด์ซันนี่คอตตอน® ไม่อนุญาตให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร หากต้องการแชร์สามารถแชร์ link จากเว็บหรือเพจโดยตรง

By | 2022-06-30T17:03:48+07:00 June 30th, 2022|Blog|