SunnyCotton Pride Month Series #3 จิม

//SunnyCotton Pride Month Series #3 จิม

SunnyCotton Pride Month Series #3 จิม

“พี่เป็นเด็กที่โตมากับครอบครัวที่รับราชการ เลยถูกคาดหวังว่าควรเป็นเด็กเรียบร้อย แต่เป็นเด็กซนๆ กระโดกกระเดก ไม่ชอบนุ่งกระโปรง ถ้ามีโอกาสก็จะแอบไปวิ่งเล่นตลอด เรามีทั้งเพื่อนผู้หญิงและผู้ชาย ตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้คิดว่าอยากเล่นกับเพื่อนเพศไหนเป็นพิเศษ แค่ไม่ชอบเล่นโดดยางเพราะเล่นไม่เป็น ชอบอ่านหนังสือ ชอบกิจกรรมใช้แรง ซึ่งก่อนมีประจำเดือน พี่ไม่ได้รู้สึกตัวเองต่างกับเพื่อนคนอื่นมากนัก แค่ไม่ชอบใส่กระโปรง เพราะมันสะดวกดี แล้วก็คิดว่าคนอื่นคงเป็นเหมือนกัน

.

พอขึ้นมัธยม เราก็รู้ว่าวันหนึ่งประจำเดือนเราจะมา แต่ก็บอกตัวเองตลอดว่า เราอาจจะไม่มีก็ได้นะ เราอาจจะเหมือนน้องชาย เหมือนเพื่อนผู้ชายที่โตด้วยกันมา พอเมนส์มา เลยรู้สึกว่าโลกของเราแตกสลาย คือไม่ได้ตื่นตกใจที่มีเลือดออกมาหรือรู้สึกว่ามันประหลาด แต่เมนส์ได้พรากชีวิตวัยเด็กที่เราคุ้นเคยออกไป เหมือนเรามาถึงทางแยก แล้วร่างกายมันเลือกให้อัตโนมัติว่าเราเป็นอะไร โดยที่เราไม่ได้มีส่วนเลือกเลย มันทำให้เรามีคำถามตลอดเลยว่า แล้วตกลงจะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย?

.

นอกจากนี้การมีเมนส์ยังเท่ากับเราท้องได้ มันเริ่มมีข้อห้ามว่าห้ามทำอันนั้นอันนี้ เยอะแยะเต็มไปหมด เราเคยไปเล่นกับเพื่อนผู้ชาย เพื่อนก็ไม่เล่นด้วย เพราะผู้ใหญ่สอนว่า ผู้หญิงผู้ชายวัยนี้ ห้ามไปอยู่ใกล้กัน เดี๋ยวท้อง แต่ไม่ได้สอนหรอกว่าทำอะไรละมันถึงท้อง เด็กก็ไม่รู้ รู้แค่ว่าอย่าเล่นกับเรา กับเพื่อนผู้หญิงเราก็ไม่สนิทกัน เลยกลายเป็นว่าจู่ๆ เราก็โดดเดี่ยว ซึ่งสิ่งที่ไม่โอเคที่สุดก็คือ เราเป็นเด็กที่สนิทกับพ่อมากๆ นอนตัก กอด อาบน้ำ เล่นด้วยกันตลอด แต่พอมีเมนส์ คนอื่นมาเห็นก็จะบอกว่า โตแล้ว ทำแบบนี้ไม่ได้นะ เรากับพ่อเลยต้องห่างๆ กัน พอไปโรงเรียน ครูก็จะมาวุ่นวายกับเราว่า เธอเป็นสาวแล้วนะ ต้องไว้ผมยาวสิ ซึ่งสำหรับพี่ ผมสั้นมันไม่ได้หมายถึงความเป็นชายขนาดนั้นเลย แต่มันคือความสบาย เช็ตผมแป๊ปเดียวก็แห้ง เราเลยรู้สึกว่าโลกมันวุ่นวายกับเราเหลือเกินทันทีที่เราเป็นเมนส์ ชีวิตที่เคยสงบสุขของเราถูกก่อกวนให้มีตะกอนขุ่นๆ ขึ้นมาตลอดเวลา

.

จริงๆ แล้ว พี่ยอมรับว่าประจำเดือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพี่ เหมือนคนเราต้องฉี่ ต้องขี้ เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนเราร้อนก็มีเหงื่อ มีกลิ่นตัว ฉะนั้นการมีเมนส์ก็เป็นเรื่องปกติของร่างกายที่มีอวัยวะนี้ เรารู้ว่าเราเกิดมาผิดร่าง ไม่ได้อยากมีหน้าอก แต่ก็เข้าใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียดอะไรมัน แต่เราคับข้องใจกับโลกข้างนอกมากกว่า เช่น การที่เราต้องอายเวลาที่เมนส์เลอะกระโปรง การที่เราต้องปกปิดว่าเมนส์มา เพราะเดี๋ยวเพื่อนล้อว่ามีกลิ่น เวลาเข้าห้องน้ำไปเปลี่ยนผ้าอนามัยก็ต้องดึงผ้าอนามัยอันเก่าออกมาทิ้งให้เบาที่สุด เพราะกลัวเพื่อนจะรู้ แล้วเอาไปล้อ คือการด้อยค่าของสังคมที่มีกับคนมีมดลูกมันมีเยอะเต็มไปหมด ห้ามเลอะ ห้ามมีกลิ่น ห้ามนู้นนี่ เพื่อนที่อายุ 16 ปี เขามีเมนส์ช้า ก็รู้สึกผิดอีก กังวลไปต่างๆ นาๆ เพราะที่ไม่มีใครบอกและสอนเขาเกี่ยวกับเมนส์เลย

.

เมื่อก่อนพี่ทดลองใช้ผ้าอนามัยหลายแบบ ปกติจะใช้แบบบาง แต่เวลามีกิจกรรมก็จะใช้แบบสอด จำได้ว่าสมัยเรียนมหา’ลัย พี่พกผ้าอนามัยแบบสอดไปเที่ยวด้วย เพื่อนเห็นก็พูดว่า เห้ย ใช้ได้ไง มันทำให้ไม่ซิงนะ เราก็ เอ๊ะ ซื้อให้ก็ไม่ใช่นะ แต่ทำไมวุ่นวายกับกูจังเลย (หัวเราะ) พอมองกลับไปก็เข้าใจว่าเขาคงถูกสอนว่าห้ามเอาอะไรสอดเข้าไปในจิ๋มเด็ดขาด ต้องรอแต่งงานก่อน ถึงจะให้จู๋ที่แต่งงานด้วยสอดเข้ามาได้ หรือพอเราโตขึ้นมาอยู่ในวัยทำงาน เราเคยต้องสอนพี่คนหนึ่งใช้ผ้าอนามัยแบบสอด เพราะเขาไม่เคยใช้และจำเป็นต้องใช้ เขาเลยได้รู้ว่าพอมันสอดเขาไประดับหนึ่งมันจะไม่เลื่อน แต่คนมักเข้าใจกันไปเองว่ามันเหมือนเซ็กซ์ทอย ซึ่งไม่ใช่เลย พี่เลยรู้สึกว่าทุกเรื่องเกี่ยวกับจิ๋ม มันถูกทำให้ดูน่ากลัวไปหมด

.

สังคมทำเหมือนจิ๋มไม่มีอยู่จริง แล้วยิ่งเป็นจิ๋มของทรานส์แมนก็ยิ่งไม่มีเข้าไปกันใหญ่ เพราะทรานส์แมนบางคนไม่อยากเป็นผู้หญิง ก็เลยไม่ชอบจิ๋มตัวเอง พยายามไม่สนใจ แต่จริงๆ มันคือสุขภาพของเรา ถ้าเราไม่สนใจมัน บางทีกว่าจะรู้ตัวก็เจ็บป่วยมากแล้ว บางคนไม่ยอมดูซ้ำว่าเมนส์เราสีอะไร มีลิ่มเลือดไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ตัวพี่เองเริ่มจากรับฮอร์โมนเพศชายเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน สักเข็มที่สอง ฮอร์โมนมันก็เข้าไปกดการทำงานของมดลูกรังไข่จนทำให้ไม่มีประจำเดือน สำหรับพี่เป็นกระบวนการ Transitional (การข้ามเพศ) ที่เราเลือกทำเองเพื่อเปลี่ยนตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมเราก็ทำ

.

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พี่ได้เจอเพื่อนนักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นนี้ เลยได้พบว่าประจำเดือนเป็นกล่องแพนโดร่าที่ทุกคนไม่รู้ว่ามันคืออะไร หลายคนก็ทุกข์กับมันมาก เช่น เราไม่รู้ว่าทำไมเมนส์มาแล้วมันดำๆ บางคนเมนส์มาก็รู้สึกตัวเองสกปรก บางคนคิดว่ามันเป็นเลือดเสีย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ทรานส์แมนบางคนเทคฮอร์โมนแล้ว แต่เมนส์ก็ยังมา เขารู้สึกว่าการมีเมนส์คือการเป็นผู้หญิง เลยพยายามไม่มีเมนส์โดยรับฮอร์โมนมากขึ้น แต่ไม่ได้ปรึกษาหมอ เพราะอาย แล้วมันก็เป็นอันตรายกับร่างกายของเขา ทรานส์แมนบางคนที่เทคฮอร์โมนมานานหลายปี เขาปวดท้องมาก เขาควรไปหาหมอฮอร์โมน หมอสูติฯ หรือหมออายุรกรรมดี? มันเป็นความซับซ้อนหลายมิติ ที่หมอเองก็ไม่รู้เหมือนกัน หรือถ้าเกิดวันหนึ่งทรานส์แมนที่ไม่ได้ผ่าตัดมดลูก ตัดสินใจอยากมีลูก เขาควรจะปรึกษาใคร ถ้าวันนึงเขามีเซ็กซ์กับผู้ชาย เขากินยาคุมได้ไหม เขาควรทำอย่างไรดี ซึ่งคนที่เป็นทรานส์แมนแล้วมีแฟนเป็นผู้ชายหรือมีเซ็กซ์กับผู้ชาย เขาก็ไม่กล้าพูด เพราะกลัวโดนสังคมด่าอีกว่าจะมาเป็นทรานส์แมนทำไม ทำไมไม่เป็นผู้หญิงไปเลย มันก็เลยเป็นแพนโดร่าอีกกล่องที่ลึกลับ ที่แม้แต่ตัวหมอเฉพาะทางเองก็งงว่าจะแนะนำอย่างไร เพราะมีทั้งเรื่องจิ๋ม เรื่องฮอร์โมน เรื่องตัวตนของเขา”

 

จิม อายุ 43 ปี เป็น Queer Transman และ เจ้าของเพจ จิม เจอนี่ Jim`s Journey  https://www.facebook.com/jimjourney.ftm/

 

🌈🌞 ในเดือนแห่ง Pride Month นี้ SunnyCotton ขอร่วมเฉลิมฉลองของขวัญจากธรรมชาติที่ทุกคนได้รับ การก้าวออกมาพูดถึงความสวยงามที่แต่ละคนมีอย่างแตกต่างหลากหลาย ความสบายใจและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างแท้จริง ด้วยเรื่องเล่าทั้งจากผู้มีประจำเดือนและไม่มีประจำเดือน เพราะ “ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่มีประจำเดือน และไม่ใช่ผู้มีประจำเดือนทุกคนเป็นผู้หญิง”

#เราทุกคนมีสีสันที่ต่างกัน #รื้อถอนเพื่อโอบรับความหลากหลาย#PrideMonth#celebratingpridemonthforpeoplewithorwithoutperiods

ติดตามเรื่องราวของ ชาม และ จิม ได้ที่แฮชแท็ค #sunnycottonPrideMonthSeries

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดยพรรัตน์ วชิราชัย

ข้อความทั้งหมดในบทสัมภาษณ์นี้เป็นลิขสิทธิ์ของแบรนด์ซันนี่คอตตอน® ไม่อนุญาตให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร หากต้องการแชร์สามารถแชร์ link จากเว็บหรือเพจโดยตรง

By | 2023-02-15T19:10:25+07:00 June 30th, 2022|Blog|