SunnyCotton Pride Month Series #2 ชาม

//SunnyCotton Pride Month Series #2 ชาม

SunnyCotton Pride Month Series #2 ชาม

“ตลอดช่วงชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น เราถามตัวเองตลอด คุยกับตัวเองมาตลอดว่าเราเป็นใคร เรามองตัวเองยังไง เพราะข้างในเราเป็นผู้หญิง แต่เกิดมาเป็นเด็กผู้ชายในสังคมมุสลิมที่เคร่งศาสนามาก การเป็นผู้ชาย เราต้องเกร็ง ต้องเดินแข็งๆ เสียงทุ้มๆ เก็กขรึม แต่จริงๆ แล้วเราอยากพูดด้วยน้ำเสียงของตัวเอง เดินด้วยท้วงท่าของตัวเอง กรีดไม้กรีดมือตามใจตัวเอง อยากปล่อยกล้ามเนื้อให้เป็นมันอย่างที่อยากเป็น เพราะมันรู้สึกสบายใจและเหนื่อยน้อยลงมากๆ

.

สิ่งหนึ่งที่ตุ๊ดเด็กทุกคนต้องเคยทำคือ ทันทีที่เข้าห้องนอน เราเอาผ้าขนหนูมาเล่นทำเป็นเครื่องแต่งกาย เป็นกระโปรง เป็นเสื้อคลุม เป็นเปียทิพย์ ฉะนั้นเวลาอยู่ข้างนอก เราทำเป็นเข้มแค่ไหน แต่ทุกครั้งที่เข้าห้องนอน เราก็เล่น role play (บทบาทสมมติ) แบบนี้ทุกวันเลยอะ (หัวเราะ) มันทำให้เราคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าเราเอาชีวิตในห้องนอนออกมาข้างนอกมันจะเป็นยังไงนะ เราจะแฮปปี้แค่ไหน และคนจะมองเรายังไง

.

พออายุ 20 กว่า เราเรียนที่หาดใหญ่ ก็ตัดสินใจว่าเอาวะ ลองท้าทายชีวิตดู ด้วยความที่ผู้ชายมุสลิมเนี่ยไว้ผมยาวได้ เราเลยเริ่มจากลองปล่อยผม ต่อมาก็เริ่มทาลิป เริ่มเขียนคิ้ว เริ่มทาแป้ง ออกไปข้างนอก ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่า โอ้ นี่แหละ สิ่งที่ฉันตามหามา พอเราเข้ามาทำงานกรุงเทพ หาเงินเองได้ เราก็แต่งตัวแต่งหน้าจัดเต็มมากขึ้น เริ่มเทคฮอร์โมนจริงจัง เพราะอยากมีพัฒนาทางร่างกายที่เป็นผู้หญิง

.

พอเราแต่งตัว เราก็ต้องเรียนรู้เรื่องการแต็บ รุ่นพี่บางคนแนะนำให้เราใส่ผ้าอนามัยเพื่อแต็บ เราก็ โห ตื่นเต้นมาก เพราะได้เดินเลือกซื้อผ้าอนามัยตามร้านสะดวกซื้อ มันให้ความรู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง คนข้างนอกก็มองว่าเราเป็นผู้หญิง เพราะเราตัวเล็กๆ หน้าหวานๆ เราเลยได้ลองใส่ผ้าอนามัยแบบนู้นแบบนี้ แบบมีกลิ่น แบบไม่มีกลิ่น แบบเย็น แบบไม่เย็น แล้วเรามีความสุขกับการใส่มาก วันไหนได้ใส่ก็จะรู้สึกตื่นเต้น

.

วันหนึ่งที่เราได้รับแจกผ้าอนามัยตอนเดินผ่านสถานีรถไฟฟ้า ก็เลยเริ่มพกผ้าอนามัยติดกระเป๋า หลังจากนั้นเวลาที่เพื่อนผู้หญิงเกิดเมนส์มากระทันหัน เราก็หยิบให้เขาได้เลย มันให้ความรู้สึกของเพื่อนหญิงพลังหญิงดี แต่หลังๆ เราไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ได้พกแล้ว เพราะพอเราทำงาน มีรายได้มากขึ้น เราก็ใส่กางเกงในสำหรับแต็บแทน

.

ซึ่งสำหรับ transwoman เราจะได้ใช้ผ้าอนามัยจริงๆ จังๆ อีกทีก็ตอนผ่าตัดแปลงเพศ หมอจะบอกล่วงหน้าเลยให้เราเตรียมเงินสำหรับส่วนตรงนี้ด้วย เพราะค่อนข้างต้องใช้เยอะ เนื่องจากแผลจากการผ่าตัดยังไม่หายดี เราต้องใช้ผ้าอนามัยเพื่อซับสารคัดหลั่งต่างๆ ที่ออกมา กว่าแผลจะหายสนิท บางคนต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และแม้ว่าแผลหายแล้ว บางคนก็อาจมีสารคัดหลั่งไหลเยิ้มออกมา ฉะนั้นจะต้องพึ่งผ้าอนามัยอย่างต่อเนื่อง

.

สำหรับเราในตอนนี้ยังไม่มีแผนจะผ่าตัดแปลงเพศ เพราะยังไม่รู้สึกว่ามันจำเป็น แล้วลึกๆ ก็กลัว เพราะการผ่าตัดแปลงเพศเป็นการผ่าตัดใหญ่ ทรานส์เกือบทุกคนที่ผ่าจะมีปัญหาสุขภาพตามมาเยอะแยะมากมาย ซึ่งเราเป็นคนที่ป่วยง่ายอยู่แล้ว เลยไม่คิดว่าร่างกายจะรับไหว แล้วหมอจะผ่าตัดฮอร์โมนเพศชายจากร่างกายเราออกไปด้วย ซึ่งจะทำให้เราเซนซิทีฟกับเรื่องฮอร์โมนมากกว่าเดิม คนที่ผ่าจะต้องเทคฮอร์โมนอย่างจริงจังสม่ำเสมอและดูแลตัวเองไปตลอดชีวิต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ใช้เงินเยอะมากๆ เราเลยไม่คิดจะแปลงเพศ

.

สุดท้ายแล้ว เรายอมรับได้ที่ตัวเองเป็นทรานส์นะ เรายอมรับได้ว่าเราไม่มีเมนส์ ไม่มีมดลูก สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของเรา เราไม่ติดอะไรถ้าคนจะเรียกเราว่ากะเทย ถ้าเขาไม่ได้ใช้น้ำเสียงจิกด่า เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเกิดมาผิดร่าง แล้วก็รู้สึกมีความสุขมากๆ กับของร่างกายตัวเองในตอนนี้”

ชาม อายุ 30 ปี เป็น transwoman กราฟฟิกดีไซเนอร์ นางแบบโลลิต้า และนักคอสเพลย์  Charmulous

🌈🌞 ในเดือนแห่ง Pride Month นี้ SunnyCotton ขอร่วมเฉลิมฉลองของขวัญจากธรรมชาติที่ทุกคนได้รับ การก้าวออกมาพูดถึงความสวยงามที่แต่ละคนมีอย่างแตกต่างหลากหลาย ความสบายใจและภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอย่างแท้จริง ด้วยเรื่องเล่าทั้งจากผู้มีประจำเดือนและไม่มีประจำเดือน เพราะ “ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่มีประจำเดือน และไม่ใช่ผู้มีประจำเดือนทุกคนเป็นผู้หญิง”

.

#เราทุกคนมีสีสันที่ต่างกัน #PrideMonth #celebratingpridemonthforpeoplewithorwithoutperiods

ติดตามเรื่องราวของ ชาม และ จิม ได้ที่แฮชแท็ค #sunnycottonPrideMonthSeries

.

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดยพรรัตน์ วชิราชัย

.

ข้อความทั้งหมดในบทสัมภาษณ์นี้เป็นลิขสิทธิ์ของแบรนด์ซันนี่คอตตอน® ไม่อนุญาตให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร หากต้องการแชร์สามารถแชร์ link จากเว็บหรือเพจโดยตรง

By | 2023-02-15T19:10:33+07:00 June 30th, 2022|Blog|